LGBTQ+ Movement & Rock Music in the 60s-70s
การขับเคลื่อนของ LGBTQ+ ผ่านวงการ Rock & Roll ใยยุค 60s - 70s
หากพูดถึงความเท่าเทียมที่ผู้คนทั่วโลกต่างต่อสู้เพื่อจุดยืนของตัวเองแล้ว ต้องยอมรับว่าเรื่องความหลากหลายทางเพศ เป็นหนึ่งในการต่อสู้ที่มีมาอย่างยาวนานในหลายยุคหลายสมัย ผ่านการขับเคลื่อนมากมายหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ วัฒนธรรม หรือดนตรี สิ่งเหล่านี้ช่วยผลักดันจุดยืนของ LGBTQ+ ได้อย่างไร? เนื่องจากเพิ่งผ่านพ้นเดือน Pride Month ไป เราจึงอยากพาทุกคนไปย้อนดูการขับเคลื่อนสังคมผ่านมุมมองของนักดนตรีร็อก ว่านอกจากสร้างผลงานดีๆ ให้เราฟังแล้ว พวกเขายังมีบทบาทในการสร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ๆ กับสังคมในมุมมองที่มีต่อ LGBTQ+ อย่างไรบ้าง
ย้อนกลับไปในปี 30s-40s ทุกๆ ประเทศทั่วโลก มองว่าการเป็นคนรักร่วมเพศถือเป็นอาชญากรรมอย่างนึง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีบทเพลงหรือหนังที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ หรือแม้กระทั่งผลงานเพลงจากศิลปินที่เป็น LGBTQ+ เมื่อไม่มีผลงานออกมา ก็ไม่มีผู้เสพหรือผู้ดู เรียกได้ว่าเป็นสังคมที่ปิดเงียบแบบนี้นานมาถึงช่วงปี 1960 ที่เริ่มมีการเปิดกว้างให้คนรักร่วมเพศมีสิทธิมากขึ้น (Gay Rights Liberation)
การบุกเบิกกระแส “Glam rock”
ทางด้านกลุ่มศิลปินสายร็อกผู้บุกเบิกอย่าง Marc Bolan วง T-Rex ก็เริ่มแสดงออกผ่านการแต่งหน้าและแต่งตัว หรือที่เรียกว่ากระแส glam rock คือการใส่เสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด รัดๆ หรือกางเกงขาสั้น อย่างการแสดงเพลง “Hot Love On Top Of The Pops” พวกเขาสวมชุดกะลาสี โดยนัยคือสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นชาย แต่ลายผ้าเป็นซาตินสีเงินแวววาว ผมยาวปล่อยเป็นลอน เป็นการผสมผสานทางเพศที่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับวงการดนตรีร็อกในยุคนั้น
รวมถึง David Bowie ศิลปิน glam rock ที่สาดสีสันด้านการแต่งตัวมามากมายหลายอัลบั้ม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นแบบผู้หญิง การใส่รองเท้าส้นสูง สีผมจี๊ดจ๊าด รวมกับท่าทางเวลาแสดงของเขา ถือเป็นการสะเทือนวงการแฟชั่นในยุคนั้นด้วย ทำให้กระแส Glam rock กลายเป็นการแสดงจุดยืนทางเพศที่จับต้องได้ และเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Glam rock ค่อยๆกลายมาเป็น Safe zone สำหรับ LGBTQ+ และเข้าถึงคนจำนวนมากขึ้น
เป็นคนรักร่วมเพศไม่เกี่ยวข้องกับอาการทางจิต
จากการเป็นคนรักร่วมเพศที่ถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมของหลายๆประเทศ รุนแรงถึงขนาดที่ว่าพวกเขาโดนทำร้ายร่างกายตามถนนจากคนที่ไม่ได้รู้จัก ซึ่งถือว่าเป็นความอยุติธรรมอย่างร้ายแรง เพราะพวกเขาเพียงต้องการใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติ แนวคิดนี้นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘ยุคของคนรักร่วมเพศ’ (Homophile era) ที่เริ่มมีการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมเป็นครั้งแรกๆ รวมถึงมีการค้นคว้า ศึกษา ผลักดันงานวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่าการเป็นคนรักร่วมเพศไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคอาการทางจิตแต่อย่างใด
เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็ต้องพูดถึงศิลปินร็อกอย่าง Lou Reed ที่เป็นอีกหนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนสังคม โดยนอกจากการแสดงออกผ่านการแต่งตัวแล้ว เขายังใช้เพลง “Kill your sons” เป็นสื่อกลางที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของสังคมที่มีต่อ LGBTQ+ ว่าในยุคนั้นมีการใช้ไฟฟ้าช็อตเพื่อรักษาอาการ “รักร่วมเพศ” อยู่จริง มีการมองคนกลุ่มนี้ว่าเกิดจากความผิดปกติทางจิต และการต่อสู้กับแนวคิดนี้ก็มาสิ้นสุดในปี 1973 ซึ่งถือว่าเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน และการยอมรับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในอเมริกา เพราะช่วงปี 1967 ที่อังกฤษก็ค่อยๆ ลดทอนการมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นอาชญกรรมเช่นเดียวกัน
การก่อกำเริบสโตนวอลล์ (Stonewall riots)
การเคลื่อนไหวทางสังคมที่ถือได้ว่าเป็นก้าวใหญ่ๆ ของการเรียกร้องสิทธิ LGBTQ+ คือ เหตุการณ์ที่เรียกว่า การก่อกำเริบสโตนวอลล์ (Stonewall riots) เกิดขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน 1969 มีตำรวจบุกไปที่สโตนวอลล์อินน์ (Stonewall Inn) บาร์ที่เรียกได้ว่าเป็น Safe space ของเหล่า LGBTQ+ เพราะแน่นอนว่าในตอนนั้นไม่มีองค์กร หรือสถานที่ใดๆจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนกลุ่มนี้มากนัก ส่วนใหญ่พวกเขาจึงจะมักมารวมตัวกันที่บาร์ ที่ที่เปิดรับคนทุกประเภท ทุกรสนิยม พวกเขาสามารถรื่นเริงและแสดงความรักต่อกันได้อย่างสบายใจ บาร์นี้ตั้งอยู่ในย่านเกรนิชวิลเลจ แมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก และด้วยความที่ตำรวจ (ในยุคนั้น) ชอบเข้าตรวจบาร์หลายๆ แห่งเป็นประจำอยู่แล้ว ก็คงจะไม่แปลกอะไร แต่ประเด็นมันอยู่ที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับกลุ่มคนที่อยู่ในบาร์ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที่ทำให้ความรุนแรงมีมากขึ้นและมีการต่อสู้กลับ ระหว่างผู้คนในนั้นและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยาวนานถึง 4 วัน 3 คืน และจากการต่อสู้เริ่มกลายเป็นการประท้วง มีการรวมตัวของผู้ประท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้ว่าเป็นการรวมตัวสมาชิก LGBTQ+ และผู้สนับสนุนที่มากขึ้นอย่างรวดเร็ว
แรงขับเคลื่อนทางดนตรีจากเหตุการณ์ Stonewall riots
เพลง “Lola” ของ The Kinks วงร็อกจากอังกฤษ เป็นตัวแทนของผลพวงในการขับเคลื่อนได้ดี เพลงนี้เกี่ยวกับการพบกันอย่างโรแมนติกระหว่างชายหนุ่มกับหญิงข้ามเพศในคลับ เนื้อหาเพลงบรรยายถึงความรักความรู้สึกที่ต่อสู้กับความสับสนของชายหนุ่มต่อ Lola คนนั้น จะเห็นได้ว่าสุดท้ายความรักก็คือความรัก ไม่จำเป็นต้องระบุเลยว่าใครเป็นเพศอะไร เพลงนี้วางจำหน่ายในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 1970 ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาเปิดตัวในวันที่ 28 มิถุนายน 1970 และขึ้นเป็นอันดับสองใน UK Singles Chart และอันดับเก้าใน Billboard Hot 100 นับแต่นั้นมา เพลงนี้ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่โด่งดังที่สุดของ The Kinks และช่วยเป็นกระบอกเสียงใหญ่ๆ ให้ LGBTQ+ ได้มากขึ้น
สารจาก Tom Robinson สู่เพลงชาติ LGBTQ+ ในอังกฤษ
Tom Robinson เริ่มเป็นที่รู้จักจากการเป็นนักเคลื่อนไหว สู่การเป็นศิลปินป็อปร็อก ทำให้เขาเล็งเห็นถึงการต่อสู้ในชีวิตประจำวันของกลุ่ม LGBTQ+ มาอย่างยาวนานและเน้นย้ำถึงความยากในการใช้ชีวิตของ LGBTQ+ ในสังคมตอนนั้น เพลง ‘Glad To Be Gay’ ถูกเขียนมาสำหรับขบวนพาเหรดเกย์ไพรด์ในลอนดอนปี 1976 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ LGBTQ+ ต้องเผชิญหน้ากับสังคม แต่งขึ้นจากสี่ข้อที่วิพากษ์วิจารณ์ทัศนคติของสังคมอังกฤษที่มีต่อ LGBTQ+
ข้อแรกวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจอังกฤษในการโจมตีผับ LGBTQ+ โดยไม่มีเหตุผล หลังจากมีการเลิกพระราชบัญญัติความผิดทางเพศสำหรับคนที่มีรักร่วมเพศในปี 1967 แล้ว
ข้อที่สองชี้ไปถึงความใจร้ายของสังคมที่มีต่อ Gay News คือเป็นสื่อที่มักถูกดำเนินคดีในข้อหาลามกอนาจาร แต่นิตยสารอย่าง Playboy หรือหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ The Sun ที่ตีพิมพ์ภาพถ่ายเปลือยกลับไม่ได้มีผลอะไร นอกจากนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์วิธีที่สื่อแสดงภาพคนรักร่วมเพศในหนังสือพิมพ์อย่าง Daily Telegraph, Sunday People และ Sunday Express
ข้อที่สามชี้ให้เห็นถึงผลที่ตามมาจากความรุนแรงของเจ้าหน้าที่หรือใครก็ตามต่อกลุ่ม LGBTQ+
และในท่อนสุดท้าย เป็นส่วนของการร้องขอความช่วยเหลือ ส่วนนี้แต่เดิมเริ่มจากจุดมุ่งหมายเพื่อพูดถึงความขมขื่นในการเดินขบวน Pride ปี 1976 สู่การเรียกร้องความเป็นธรรมจากมุมมองที่สังคมมองพวกเขา เรียกได้ว่าเพลงนี้ ถูกเรียกว่าเป็น เพลงชาติ LGBTQ+ ในอังกฤษเลยก็ว่าได้
จุดยืนที่ต้องแลก
ทางด้าน Janis Joplin ก็มีการสร้างบุคลิกใหม่ของผู้หญิงในดนตรีร็อก นอกจากส่วนผสมความบลูส์แอฟริกันอเมริกันและริธึมแอนด์บลูส์ในงานเพลงของเธอแล้ว การแต่งกายที่ฉูดฉาด การพูดอย่างตรงไปตรงมา อารมณ์ขันที่รวมกับท่าทีที่ดูเป็นอิสระในการแสดงออก ทั้งด้านการเมืองและเรื่องเพศ(ในการเปิดตัวคนรัก) รวมถึงการสัก ถือว่าการแสดงออกของ Joplin เป็นการช่วยเปิดมุมมองของสังคมที่จำกัดกับความเป็นผู้หญิงได้เป็นอย่างดี
แต่แน่นอนว่าทุกอย่างไม่ได้สวยงามตามที่เราอยากให้เป็นเสมอ กระแสตอบรับจากสังคมหลังจาก Elton John ศิลปินที่อัลบั้มขายดีที่สุดเป็นอันดับสามในสหรัฐอเมริกา รองจากเอลวิสและเดอะบีทเทิลส์ เรียกได้ตั้งแต่แนว R&B ไปจนถึงร็อกแบบโปรเกรสซีฟ เขาเอาอยู่ แต่หลังจากเขาออกมาแสดงจุดยืนผ่านนิตยสาร The Rolling Stones ว่าตนเป็นไบเซ็กชวล ก็มีจดหมายต่อว่ามากมายตีกลับไปยังนิตยสารดังกล่าว รวมถึงยอดอัลบั้มที่ตกลงอย่างมาก
ถึงกระนั้น Freddie Mercury นักร้องนำแห่งวงร็อกในตำนานอย่าง Queen ก็ร่วมออกมาขับเคลื่อนผ่านเพลง “I Want To Break Free” ที่นอกจากเนื้อหาเอ่ยถึงความต้องการเป็นอิสระจากกรอบเดิมๆ แล้ว การแต่งตัวของทุกคนในวงที่มาในตีม Drag as women ถือเป็นก้าวใหญ่ๆ ในการแสดงออกผ่านสื่อให้กลุ่ม LGBTQ+ ได้มีจุดยืนในสังคมมากขึ้น รวมถึง Stright people ที่ได้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับเพลงและความหลากหลายทางเพศ มีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจในกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น
จากโรคร้าย สู่การเปิดใจในสังคม
ช่วงปลายๆยุค 70s โรคเอดส์ระบาดทั้งในอังกฤษและอเมริกา จริงๆ เรียกได้ว่าเริ่มระบาดเกือบทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ ที่มีจำนวนคนติดเยอะมากและขยายอย่างรวดเร็ว แต่ที่น่าเศร้าใจคือรัฐบาลอังกฤษและอเมริกาแทบจะไม่ทำอะไรเลยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งให้ความรู้หรือข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้
ในขณะที่ Elton John เริ่มก่อตั้งมูลนิธิ Elton John AIDS Foundation ในปี 1988 เพื่อเป็นการโอบอุ้มคนกลุ่มนี้ให้ได้มากเท่าที่จะมากได้ ตัว Freddie Mercury ก็เริ่มเปิดเผยว่าตนเป็นไบเซ็กชวลในช่วงที่เขากำลังเผชิญหน้ากับโรคนี้อยู่เช่นกัน และเมื่อเขาเสียชีวิตลงในปี 1991 แฟนเพลงก็เริ่มตั้งสันนิษฐานกันว่า เพลง Bohemian Rhapsody ในท่อน “Mama, just killed a man, put a gun against his head, pulled my trigger, now he’s dead.” อาจจะเป็นสื่อกลางในการแสดงออกทางจุดยืนในเรื่องเพศของเขา
นอกจากนี้ การเสียชีวิตของเขานำไปสู่การสร้างการรับรู้ การระวังและป้องกันที่มีต่อโรคเอดส์ จนก่อให้เกิด Freddie Mercury Tribute Concert ณ Wembley Stadium ที่ London มีผู้ร่วมชมกว่า 72,000 คน เกิดเป็นคอนเสิร์ตระดับตำนานที่จัดขึ้นเพื่อร่วมบริจาคให้โครงการเอดส์ โดย Freddie Mercury Tribute Concert นี้มีศิลปินระดับท็อปขึ้นแสดงมากมาย เช่น David Bowie, George Michael, Guns N' Roses, Metallica, Robert Plant, Roger Daltrey, Tony Iommi, Elton John ร่วมขึ้นแสดงกับสมาชิกของ Queen นี่ถือเป็นปรากฎการณ์สำคัญที่ทำให้การกล้าแสดงออกของคนในสังคม รวมถึงมุมมองที่มีต่อ LGBTQ+ ได้เปิดกว้างไปอีกขั้น
ในขณะที่ดนตรีแนว punk ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นแนวเพลงใหม่ๆ แม้จะสวนทางกับเทคนิคการทำเพลงและแฟชั่นที่เป็นที่นิยมในขณะนั้น แต่ก็พบว่าผู้ชมส่วนมากเป็นกลุ่ม LGBTQ+ จึงเรียกได้ว่าการมาของดนตรี Punk มีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยดนตรีที่แปลกใหม่กับผู้คนที่(ถูกมองว่า)แตกต่าง เหมือนการฉีกกฎอะไรเดิมๆ ที่เคยมี และช่วยขยับไฟในสังคมที่ส่องมายังกลุ่ม LGBTQ+
จากหลากหลายเหตุการณ์สำคัญที่บรรดาศิลปินออกมาแสดงจุดยืนหรือผลักดันสังคมผ่านมุมมองของพวกเขาแล้ว จะเห็นได้ว่าแก่นหลักความคิดของพวกเขามองว่าการแสดงจุดยืนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ในการฟังเพลงหรือเสพศิลปะ ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างเดียว เป็นเป็นการให้พื้นที่ “เสียง” ให้กับคนกลุ่มนี้ เปลี่ยนจากทัศคติที่ถูกแปะป้ายไว้ว่า “ความแตกต่างทางเพศ” สู่ “ความหลากหลายทางเพศ” เราทุกคนสามารถใช้ชีวิตด้วยความจรรโลงใจผ่านความหลากหลายได้ทุกอย่าง สังคม การเมือง วัฒนธรรม ศิลปะ รวมถึงดนตรี หากทุกคนเปิดใจกับความหลากหลายนี้ ก็จะเป็นส่วนผสมที่ดีในการสร้างรากฐาน “ความเท่าเทียม” ในสังคมให้แข็งแรง