Pink Floyd’s “Another Brick in the Wall Pt.2” and Thailand Education System

PinkFloyd_567.jpg

เปิดตำนานเพลงขบฎต่อระบบการศึกษา “Another Brick in the Wall Pt.2” โดย Pink Floyd

เราทุกคนคงคุ้นเคยกับวลี “การศึกษาฆ่าฉัน” จากแคมเปญรณรงค์เรื่องการละเมิดสิทธิในโรงเรียนที่เพิ่งจะผ่านมาไม่นานนี้ หากฟังดูเผินๆแล้วคำพูดดังกล่าวอาจจะฟังดูโหดร้ายและเกินกว่าความเป็นจริง แต่ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาของไทย ทั้งการแต่งกายและการไว้ทรงผมตามระเบียบของโรงเรียน การตีเด็ก การที่นักเรียนเรียนหนักจนฆ่าตัวตาย และอื่นๆ เป็นข้อพิสูจน์ชั้นดีที่นำมาซึ่งที่มาของวลีข้างต้น เป็นความจริงที่ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเราล้วนต่างถูกสั่งสอนเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดแต่ไม่มีเลยสักครั้งที่เราถูกสอนให้ตั้งคำถามกับมัน ถึงแม้ว่าจะมีบางคนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านแต่สุดท้ายแล้วต่อต้องพ่ายแพ้ให้กับอำนาจที่เหนือกว่า จึงทำให้นึกถึงเอ็มวีตัวหนึ่งของ Pink Floyd จากเพลง “Another Brick in the Wall Pt.2” ซึ่งอาจจะเป็นคำพูดแทนความในใจของใครหลายๆคน

ในช่วงต้นปี ค.ศ.1980 Pink Floyd ได้สร้างปรากฎการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ เมื่อ life imitates art และนักเรียนผิวสีในประเทศแอฟริกาใต้ได้นำเพลง “Another Brick in the Wall Pt.2” จากอัลบั้ม The Wall (1979) ของพวกเขาไปใช้ในการประท้วง ร้องตะโกน “We don’t need no education” เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่ใช้นโยบายในการแบ่งแยกเชื้อชาติภายในประเทศ ซึ่งทางรัฐเองก็ได้ใช้อำนาจในการควบคุมสถานการณ์ครั้งนั้นโดยการแบนสื่อ หนังสือ ภาพยนตร์ ละครเวที โปสเตอร์ หรือเพลงที่ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจออกไป และแน่นอนว่า “Another Brick in the Wall” ก็เป็นหนึ่งในลิสนั้น 

สมาชิกวง Pink Floyd

สมาชิกวง Pink Floyd

ปกอัลบั้ม The Wall

ปกอัลบั้ม The Wall


“คนจำนวนมากคลุ้มคลั่งด้วยความโกรธเพราะเพลงนั้น” Roger Waters มือเบสของวงผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของเนื้อเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มเผย “พวกเขาคิดว่าท่อนที่ผมเขียนว่า ‘We don’t need education’ คือความคิดปฏิวัติเลอะเทอะ ซึ่งถ้าคุณได้ฟังมันจากบริบทจริงๆ คุณจะรู้ว่ามันไม่ใช่แบบนั้น”

อย่างไรก็ตาม “Another Brick in the Wall Pt.2” ก็เป็นหนึ่งในแทร็คที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอัลบั้ม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ด้วยเนื้อเพลงที่โดนใจ มีท่อนคอรัสที่ติดหู ประกอบกับเสียงเบสสมูทๆผสมผสานกับบีทดิสโก้ได้อย่างลงตัว และโซโล่กีตาร์อันทรงพลัง ทำให้เพลงนี้ขึ้นหิ้งเป็นคลาสิกร็อค ติดชาร์ตอันดับ 1 ทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และทำยอดขายได้มากกว่า 4 ล้านต้นฉบับทั่วโลกหลังจากปล่อยเป็นซิงเกิลออกมา

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เพลงนี้ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในโรงเรียนถึงกระทั่งเรียกได้ว่าเป็น cult classic อาจเป็นเพราะเนื้อหาของเพลงซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาอย่างตรงไปตรงมา และมีแค่เด็กๆเท่านั้นที่เข้าใจความหมายอย่างแท้จริง เพราะพวกเขาคือคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับมัน หากพิจารณาเนื้อหาจากเอ็มวีของเพลงดีๆ แล้วจะเห็นว่า Waters ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะต่อต้านการแสวงหาความรู้ในห้องเรียน หากแต่เป็นการศึกษาประเภทที่ถูกชี้นำจากผู้มีอำนาจ ซึ่งในที่นี้ก็คือเหล่าคุณครูนั่นเอง หนึ่งในซีนที่สำคัญคือตอนที่เด็กผู้ชายถูกครูยึดสมุดที่เขาได้แต่งกลอนเอาไว้ และอ่านให้เพื่อนร่วมชั้นฟังเพื่อทำให้เขารู้สึกอับอาย ก่อนจะกลับไปสั่งให้นักเรียนทั้งห้องอ่านโจทย์คณิตศาสตร์บนกระดานอย่างพร้อมเพรียงกัน เพราะสำหรับคนในระบบการศึกษาแบบนี้แล้ว งานศิลปะที่ใช้ต้องใช้ฝีมือและความคิดสร้างสรรค์นั้นถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดไม่ใช่แค่นั้น การที่นักเรียนคนอื่นหัวเราะเยาะเด็กชายคนนี้ไปพร้อมกับครูนั้นก็เท่ากับว่าเด็กทุกคนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบไปเรียบร้อยแล้ว 

24.png
28.png

We don’t need no education

We don’t need no thought control

No dark sarcasm in the classroom

Teacher, leave them kids alone”

นอกจากนี้ยังมีฉากที่นักเรียนทุกคนเดินเรียงแถวต่อกันในโรงงานเพื่อใส่หน้ากากเปลี่ยนใบหน้าของตัวเองให้กลายเป็นแบบเดียวกันหมดจนแยกไม่ออก มิหนำซ้ำการเคลื่อนของพวกเขายังสอดประสานกันราวกับเครื่องจักร แสดงให้เห็นว่าการศึกษาได้ล้างสมอง และลบความเป็นตัวตนของเด็กทุกคนออกไป เพราะถูกสั่งสอนให้คิดไปในทิศทางเดียวกัน และไม่รับความคิดเห็นที่แตกต่างจนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเขาถูกลดทอนลง ให้เป็นแค่ another brick in the wall ที่สามารถนำมาวางทดแทนกันได้ถ้ามีอิฐก้อนใดก่อนหนึ่งเกิดความเสียหาย

26.png

อันที่จริงแล้วท่อนที่ร้องว่า “We don’t need no education” เป็นเป็นโยคที่ผิดหลักไวยากรณ์ เพราะถ้าเป็นไปตามกฎประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธจะทำให้ได้ความหมายว่า We need education ซึ่งก็คือนัยยะหนึ่งที่จะตีความจากประโยคนี้ หรืออาจจะเป็นการเย้ยหยันคุณภาพของระบบการศึกษาก็ได้ แต่ยิ่งไปกว่านั้นการเลือกที่จะร้องแบบนี้คือวิธีหนึ่งในการแสดงจุดยืนของตัวเองในการต่อต้านต่อตัวระบบด้วยการยืนหยัดที่จะทำตรงข้ามกับกฎระเบียบ เมื่อประโยคนี้ถูกเปล่งออกมาด้วยเสียงของเด็กๆวัยรุ่นที่เต็มไปด้วยแพชชั่นอันแรงกล้าแล้วยิ่งทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงคลาสิกที่ทรงพลังของเหล่านักเรียนวัยเยาว์ทั้งหลายพร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านในสิ่งที่ผู้ใหญ่บังคับให้พวกเขาปฎิบัติตามอย่างไม่เป็นธรรม

แม้ว่าจะเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่ “Another Brick in the Wall Pt.2” ได้ถูกปล่อยออกมา แต่เนื้อหาของเพลงนี้ยังเป็นสิ่งที่เหล่าเด็กนักเรียนในปัจจุบันสามารถเข้าใจและเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของตัวเองได้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ การศึกษาในปัจจุบันถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการใช้อำนาจควบคุมความคิดและการกระทำของคนในประเทศให้เป็นไปในแบบเดียวกัน เช่นเดียวกับในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับการศึกษามากกว่าอะไรทั้งนั้น แต่น้อยคนนักที่จะตระหนักถึงค่านิยม และชุดความคิดบางอย่างที่ถูกปลูกฝังผ่านบทเรียนต่างๆ ซึ่งเราทุกคนล้วนก็ได้รับมันมาอย่างไม่รู้ตัว นอกจากนี้สังคมไทยยังมีลักษณะในบางแง่มุมที่ คล้ายคลึงกับรัฐบาลฝ่ายขวาของอังกฤษในยุคของ Margaret Thatcher  หรือยุคที่ Waters ยังเป็นเด็กหนุ่ม เนื่องจากตอนนั้นอังกฤษได้เปิดให้ประเทศมีระบบการค้าเสรี และตัดงบประมาณสวัสดิการรัฐต่างๆจำนวนมาก ทำให้อำนาจในประเทศตกไปอยู่ในมือของรัฐและกลุ่มนายทุน เพราะเหตุนี้จึงเกิดเป็นวาทะกรรมทางการศึกษาที่หล่อหลอมชนชั้นกลางให้อยู่ในโอวาทอย่าง “จงตั้งใจเรียนเพื่อที่จะได้มีอนาคตที่ดี” ขึ้นมา เพื่อที่สุดท้ายแล้วเด็กเหล่านี้จะได้เติบโตขึ้นมาเป็นอิฐที่เหมือนกับก้อนอื่นๆที่จะมาต่อเติมหรือแทนที่อิฐก้อนเก่าที่ผุผังไป

ถึงแม้ความจริงอันโหดร้ายอาจจะทำให้บางคนรู้สึกสิ้นหวัง แต่อย่างไรก็ตามในคืนที่มืดที่สุด เราจะเห็นดวงดาวได้ชัดเจนที่สุด เมื่อปลายปีที่แล้ว กลุ่มเด็กนักเรียนเลว และภาคีนักเรียน KKC ได้ออกมาขับเคลื่อนสังคม ผ่านหลายแคมเปญทั้งการแต่งชุดไพรเวทไปโรงเรียน ผูกโบว์ขาวหน้ากระทรวงศึกษาธิการ รวมไปถึงการโต้วาทีกับทางรัฐมนตรี สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะพังกำแพงอิฐแห่งนี้ที่เป็นกรอบห้อมล้อมเราทุกคนไว้ หลายคนอาจจะมองว่าเหตุการณ์ต่างๆมันก็จบเหมือนกับเรื่องราวของนักเรียนในเอ็มวีของ Pink Floyd ที่เป็นเพียงความฝันลมๆแล้งๆของเด็กคนหนึ่ง แต่มันก็เป็นการพิสูจน์แล้วว่าเสียงของเด็กตัวเล็กๆก็มีพลังที่จะทำให้อำนาจที่สูงกว่าเกิดการสั่นคลอนได้ และสร้างความหวังครั้งใหม่ให้กับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

2 x 3 (12).png
 

THE LATEST

Previous
Previous

#HYHTHROWBACK : ANDERSON .PAAK & THE FREE NATIONALS

Next
Next

A Guide to Goth Subculture