Riot grrrl movement and THE Third wave of Female bands
ในช่วงเวลาที่การเมืองยุค Neo ทั่วโลกที่ทั้งฝั่งซ้ายเเละขวา (Liberal เเละ Conservative) ต่อสู้กันอย่างดุเดือด Feminist Movement ก็ได้รับเเรงกระเพื่อมจนกลับมาเกิดกระเเสอีกครั้ง เเละนี่ก็ไม่ใช่ครั้งเเรกที่สาวๆออกมาเรียกร้อง! What is Riot grrrl? คำถามที่ชวนย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990s มีหญิงสาวจำนวนนับไม่ถ้วนลุกขึ้นสู้และท้าทายอำนาจในอุตสาหกรรมดนตรีผ่านการแสดงออกอย่างไม่ทรยศต่อความรู้สึกของตัวเอง พวกเธออาจไม่ได้เอ่ยปากบอกว่าเป็นเฟมินิสต์เสมอไป เพียงแค่อยากให้ทุกคนมองพวกเธอในฐานะศิลปินด้วยสายตาของความเป็นมนุษย์ที่ขึ้นตรงต่อความเสมอภาคทางเพศ ดนตรีไม่ควรจำกัดเพศในโลกของร็อคแอนด์โรล so let she rock in her own way! ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกนักดนตรีหญิงในระดับแนวหน้าที่เธอไม่เคยคิดเทียบเคียง แต่ควรมีสิทธิทัดเทียมเท่ากับเพศชาย ประพฤติตัวอย่างเหมาะสม เคารพกันและกัน ทำไมน่ะหรอ? เพราะเสียงของพวกเธอจำเป็นต้องได้รับฟังยังไงล่ะ แม้เบื้องหลังความสำเร็จของพวกเธอต้องแลกกับอะไรบางสิ่งที่น่าหดหู่เอาเรื่องก็ตาม
ก่อนจะมาเป็นขบวนการ Riot grrrl ศิลปินต้นแบบได้กรุยทางเอาไว้เรียบร้อยแล้ว อาทิ Patti Smith นักกวีแห่งพังค์ร็อคมิวสิค และขาประจำของคลับ CBGB อัลบั้มชุดแรกของเธอ Horses (1975) นับเป็นผลงานที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก และเธอยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักดนตรีที่ทะเยอทะยานที่สุดรองจากยุคของ Bob Dylan ศิลปินชายสายโฟล์กคันทรี, Joan Jett ฉายา Queen of Rock หรือหนึ่งในสมาชิกวง The Runaways วงดนตรีหญิงล้วนที่สั่นคลอนโลกมาแล้ว, PJ Harvey ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เครื่องดนตรีหลากชนิดและดีไซน์เสียงเพลงในรูปแบบที่ทั้งนุ่มนวลและหยาบกร้าน, Siouxsie Sioux เจ้าของไดนามิกที่ครอบคลุมเรนจ์เสียงโอเปร่าและสไตล์กอธิคอันเป็นเอกลักษณ์ เธอเชื่อว่าการเขียนเพลงจะช่วยบรรเทาสภาวะจิตใจและมรสุมในชีวิตได้ ทั้งหมดนี่อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หญิงสาวทั่วทุกสารทิศยืนหยัดในเส้นทางและสร้างกฎเกณฑ์ของพวกเธอเอง
Riot grrrl ผสานแนวคิดสตรีนิยม ศิลปะ การเมือง และดนตรีพังค์ร็อคเข้าด้วยกัน เน้นการเจาะประเด็นอันละเอียดอ่อนที่พวกเธอต้องเผชิญตั้งแต่การถูกล่วงละเมิดทางเพศ, ถูกตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอก, โดนทำร้ายร่างกายในครอบครัว, อาการเจ็บป่วยทางจิตใจ, สังคมชายเป็นใหญ่, การปกครองแบบอนาธิปไตยของชนชั้นสูง, เดินหน้ารณรงค์ต่อต้านการทำแท้ง “My Life is worth too, I deserve to have control over my life and my health care” รวมถึงการสนับสนุนวงดนตรีเพศทางเลือกในนาม Queercore อย่างวง Team Dresch และ The Third Sex เช่นเดียวกับคอมมูนิตี้ LGBTQ+ (transgender, gays, lesbian, non-binary) และส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ สีผิว เชื้อชาติ และอื่นๆ
“All girls to the front, I’m not kidding” - Kathleen Hanna คือกระบอกเสียงคนสำคัญจาก Bikini Kill วงดนตรีที่ขับเคลื่อน Riot grrrl movement ร่วมกับสามสาว Bratmobile และเพื่อนพลังหญิง Fifth Column, Heavens to Betsy, Excuse 17, Huggy Bear, Le Tigre, Skinned Teen, Sleater-Kinney ฯลฯ ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายระหว่างยุคพังค์ร็อคสู่โพสพังค์ อุดมการณ์ที่เด็ดเดี่ยวและไร้ซึ่งความหวาดกลัวของฮันนา ทลายกำแพงแห่งอุดมคติที่มีต่อผู้หญิงในโลก Rock and Roll ทว่าวงดนตรีทั่วไปชอบกล่าวหาพวกเธออย่างเสื่อมเสียด้วยคำพูดแทะโลมราวกับพวกเธอเป็น sexual objects เช่น bitch, cunt, dyke, slut หรือ “groupies” ศัพท์ที่ไว้เรียกแฟนเกิร์ลที่เกาะแกะศิลปินที่จะได้เจอชายหนุ่มคนดัง เพื่อหวังเอาชื่อเสียงและเซ็กส์ (ศัพท์นี้เคยปรากฎในภาพยนตร์เรื่อง Almost Famous, The Banger Sisters and more...) แต่คำตอบของฮันนาก็คงเดาได้ไม่ยากเท่าไหร่ - “พวกเราต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กสาวทั้งหลาย คุณรู้ไหมว่ามันโคตรน่าเบื่อที่จะต้องทนเห็นบอยแบนด์ได้รับโอกาสมากมาย ต่างจากพวกเราที่ไม่มีสิทธิมีเสียงสักนิด แถมยังถูกผลักไส และเพิกเฉยจากสังคม ฉันไม่ต้องการอะไรแบบนั้นอีกแล้ว ใครที่เคยบอกว่าผู้หญิงไม่คู่ควรกับดนตรีนั้นไร้สาระสิ้นดี”
“In her kiss, I taste the revolution” รอยจุบพิตจาก “Rebel Girl” ของวง Bikini Kill คือบทเพลงที่ทำให้พวกเราได้ลิ้มลองรสชาติแห่งการปฏิวัติที่กระตุ้นให้เกิดกระแสของคลื่นลูกที่สี่หรือ forth-wave feminists ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวเพลงและแวดวงดนตรี อาทิ Cat Power, Kitten Forever, Skating Polly, The Shondes, The Ethical Debating Society, The Regrettes, Pussy Riot ฉายา Russian feminist protest punk วงดนตรีหญิงล้วนผู้ต่อต้านนโยบายเผด็จการจอมปลอมที่สั่นคลอนการปกครองของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ปูตินในประเทศรัสเซีย ณ ตอนนั้น รวมถึงเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีและสิทธิมนุษยชนไปทั่วทุกมุมโลก พวกเธอต่างใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่างแฮชแท็ก #MeToo ก็นับเป็นอีกหนึ่ง social movement ที่ทำให้เหล่าดารา นักแสดง ศิลปิน และหญิงสาวหลายต่อหลายคนกล้าออกมาดีเบตเปิดเผยประสบการณ์ต่าง ๆ ในสิ่งที่ต้องเผชิญจากการถูกคุมคามทางเพศ
ในสารคดีชุด The Punk Singer: a film about Kathleen Hanna และฟุตเทจจาก 1991: The Year Punk Broke ที่บันทึกภาพการแสดงสดรวมถึงมิวสิควีดีโอเพลง “Bull in the Heather” ของวง Sonic Youth เป็นเครื่องมือยืนยันมิตรภาพระหว่าง Kathleen Hanna กับ Kim Gordon มือเบสสาวและเจ้าแม่วงการดนตรีกรันจ์ได้อย่างชัดเจน คิมกอร์ดอนทำให้เธอรู้สึกมีคุณค่าและไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป ฮันนาเคยเสียเซล์ฟมากๆ เพราะผู้คนมักคิดว่าเธอมีเสียงร้องโหยหวนไม่น่าฟัง ผู้ชายที่ไม่พอใจความคิดเห็นของเธอก็เอาแต่ด่าทอซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขียนจดหมายสาปส่งถึงเธอแทบทุกวัน ทว่าพวกเขากลับคิดผิด! ฮันนานี่แหละคือผู้เปลี่ยนแปลงโลกและมอบความหวังให้แก่ศิลปินรุ่นใหม่ที่ต้องการจะสานต่อเจตนารมณ์ของเธออย่างแท้จริง