10 albums TO GET YOU INTO DREAM POP
10 อัลบั้มที่จะพาเข้าไปสู่โลกของ Dream Pop
ท่วงทำนองล่องลอยติดค้างอยู่ในอากาศ เสียงโวคอลเปราะบางละเอียดอ่อน เสียงเอฟเฟค reverb มัวๆ คล้ายหมอกควัน การปล่อยเสียงเครื่องดนตรีอย่างเลือนลางเหมือนกำลังดื่มด่ำอยู่ในความฝัน ล้วนแต่เป็นลักษณะเฉพาะของ dream pop ลักษณะที่บ่อยครั้งไปคาบเกี่ยวกับความหนักแน่น ยุ่งเหยิงในเสียง และความนอยส์จากกีตาร์ที่มากกว่าของแนวดนตรีพี่น้องอย่าง shoegaze คำว่า dream pop ถูกนำมานิยามเพลงแนว psychedelic jazz แบบเอื่อยๆ ของศิลปินดูโอชาวบริติช A.R. Kane ในช่วงปลายยุค 1980s ไม่นานหลังจากนั้น dream pop ก็กลายมาเป็นชื่อเรียกแนวดนตรีย่อยแตกแขนงออกมาจากอินดี้ร็อกที่มีเสน่ห์ในแบบของมัน ซึ่งคำนิยามของดนตรีแนวนี้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการโดย 4AD สังกัดเพลงจากลอนดอน ช่วงต้นปี 1990s เมื่อเอ่ยถึง dream pop ทุกคนก็จะรู้ว่ามันคือแนวเพลงแบบไหน ทั้งนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับ Cocteau Twins, Lush และ Mazzy Star ที่สร้างชื่อเสียงและปั้นให้สไตล์เพลงแบบนี้ดูเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ต่อมา ซาวด์ใหม่ๆ ได้ถูกคิดค้นขึ้นจนทำให้จักรวาลของแนวดนตรีนี้มี spectrum แสนกว้างขวางเฉกเช่นในปัจจุบัน
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า dream pop ผลิบานงอกงามอย่างมากในช่วงปลายยุค 1980s ถึงต้น 1990s และวงดนตรีที่ทำเพลงออกมาในเวลานั้นล้วนแต่เป็นวงที่มีอิทธิพล สร้างแรงผลักดันให้กับศิลปินรุ่นหลัง แน่นอนว่าทุกคนตีความของบทเพลงต่างกัน นักร้อง นักดนตรีจากกลางยุค 2000s จนถึงทุกวันนี้ได้มีการนำเอาองค์ประกอบของแนวเพลงชวนฝันนี้มาปรับใช้ในรูปแบบของพวกเขาเอง จับนู่นผสมนี่ เพิ่มความสดใหม่ให้กับเสียง มันแทบจะทำให้ผู้ฟัง pinpoint ไม่ถูกเลยว่าพวกเขาได้แรงบันดาลใจมาจากไหน ทว่าศิลปินอย่าง Kelly Lee Owens ไปจนถึง The Weeknd ก็ต่างยอมรับว่า Cocteau Twins เป็นวงต้นแบบของพวกเขา แถม Robin Guthrie ยังถูกยกย่องให้เป็นมือกีตาร์เสาหลักของแนวดนตรีนี้อีกด้วย แต่นอกจาก Cocteau Twins แล้ว ศิลปินที่แต่งแต้มสีสันให้กับซีนยังมีอีกมากมาย เราจึงได้คัดสรรอัลบั้ม 10 ชุดที่จะทำให้ทุกคนดำดิ่งเข้าสู่มิติความฝันของ dream pop
1 : Cocteau Twins - Heaven or Las Vegas (1990)
เริ่มกันด้วยสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 6 ของวงทรีโอชาวสกอตแลนด์ Cocteau Twins กับ Heaven or Las Vegas อัลบั้มที่ถูกแต่งขึ้นท่ามกลางความกดดันและปัญหาชีวิตที่สมาชิกทั้งสามกำลังประสบ จากการสูญเสียพ่อของมือเบส/คีย์บอร์ด Simmon Raymonde การติดสารเสพติดของมือกีตาร์/กลอง Robin Guthrie รวมไปถึงการตั้งครรภ์ของนักร้องนำ Elizabeth Fraser ซึ่งฟังดูแล้ว การทำอัลบั้มนี้อาจจะดูเป็นไปไม่ได้ แต่ท้ายที่สุดมันกลับเป็นอัลบั้มที่ให้คำนิยามแก่แนวเพลงดรีมป๊อป ด้วยสไตล์การเข้าถึงเนื้อร้องของ Fraser ที่สุดแสนจะปัจเจค การให้ความสำคัญกับเสียงของคำมากกว่าความหมายของพวกมัน ผสมผสานกับดนตรีเน้นรับกับเสียงร้องของเธอ Heaven or Las Vegas จึงเป็นผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้วงอื่นๆ มากมาย
track recommendation: “Cherry-Coloured Funk”
2 : The Radio Dept. - Lesser Matters (2003)
The Radio Dept. วงดนตรีอินดี้ป๊อปจากเมืองทางใต้ของประเทศสวีเดนกับชื่อแนวๆ ที่มาจากร้านซ่อมวิทยุ ย้อนไปเมื่อต้นปี 2003 พวกเขาได้ปล่อย Lesser Matters เดบิวต์อัลบั้มคุณภาพ บอกเล่าเรื่องราว ความรู้สึก angsty ผ่านเสียงดนตรีที่คาบเกี่ยวระหว่างความเป็นชูเกซและดรีมป๊อป เพิ่มเติมเสน่ห์ด้วยการอัดเพลงในอารมณ์แบบ lo-fi เรียกว่าผลงานชุดนี้เป็นตัวประกาศจุดยืนของพวกเขาเลยก็ว่าได้ เมื่อนิตยาสาร NME จัดให้อัลบั้มนี้ให้อยู่ในอันดับที่เก้าในลิสต์ 50 อัลบั้มแห่งปี 2004 ถัดมาอีกสองปี แทร็ก “Keen on Boys” ยังถูกนำไปฟีเจอร์ในหนังเรื่อง Marie Antoinette อีกด้วย
track recommendation: “Where Damage Isn’t Already Done”
3 : Galaxie 500 - On Fire (1989)
ข้ามมาอีกฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก สามนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ก่อตั้งวงขึ้นในปี 1987 ภายใต้ชื่อ Galaxie 500 พวกเขาก้าวเข้าสู่ซีนด้วยลักษณะเสียงเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ซึ่งดูเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในสตูดิโออัลบั้มชุดที่สอง On Fire อัลบั้มนี้ถูกรังสรรค์ขึ้นมาด้วยเมโลดี้แปลกหู จังหวะแบบ slowed-down เสียงโซโล่กีตาร์กรีดร้องที่นุ่มนวลและโวคอลสุดยูนีคของ Dean Wareham อัดแน่นตลอดความยาว 52 นาที และถ้าจะไม่พูดถึงแทรก “Ceremony” คัฟเวอร์เวอร์ชันของ New Order ก็คงจะไม่ได้ เพราะมันถูกผสมกับความเป็นตัวตนของ Galaxie 500 จนทำให้รู้สึกว่ามันเป็นออริจินัลแทรกของพวกเขาเอง
track recommendation: “STRANGE”
4 : Slowdive - Souvlaki (1993)
ถึงแม้อัลบั้มชุดนี้จะถูกปล่อยหลังจาก Loveless ของ My Bloody Valentine เพียงแค่สองปี แต่ผลตอบรับกลับต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะในตอนนั้นผู้คนก็ต่างหันไปให้ความสนใจกับกระแส britpop และมองว่าชูเกซกับดรีมป๊อปไม่คูลอีกต่อไป จึงทำให้วงจากเกาะอังกฤษวงนี้ถูกมองข้าม กว่าผู้คนจะค้นพบเสน่ห์ของ Souvlaki ก็ผ่านไปหลายปีให้หลัง ด้วยเนื้อร้องเกี่ยวกับความรักวัยหนุ่มสาวถูกแต่งขึ้นโดยฟรอนต์แมน Neil Halstead หลังจากถูกมือกีตาร์/โวคอล Rachel Goswell บอกเลิก ผสานกับเมโลดี้เบาๆ ลอยๆ เหมือนดังมาจากสภาวะจิตใต้สำนึก ที่สามารถเห็นได้ชัดเจนอย่างในเพลง “Souvlaki Space Station” อัลบั้มชุดนี้จึงเป็นผลงานชิ้นเอกของ Slowdive
track recommendation: “When the Sun Hits”
5 : The Pains of Being Pure at Heart - The Pains of Being Pure at Heart (2009)
The Pains of Being Pure at Heart วงดนตรีจากบรุกลินที่สร้างชื่อเสียงให้ตัวเองโดยการปล่อยเพลงบนเพจ MySpace โดยในเดบิวต์อัลบั้มในชื่อเดียวกันนั้น มี Kip Berman เล่นกีตาร์ในโทนเสียงใสๆ แบบ jangle แถมใช้กล่องเหยียบประเภท fuzz เพื่อปล่อยคอร์ดหนักๆ ออกมารับกับเสียงซินธิไซเซอร์และแนวร้องประสานของ Peggy Wang พร้อมเนื้อร้องเกี่ยวกับความรักใคร่ สะท้อนความเป็น twee pop ตามสไตล์ของ The Field Mice อย่างในเพลง “This Love is Fucking Right!” ถ้าดูรวมๆ ก็คล้ายกับว่าอัลบั้มนี้หลุดออกมาจากหนัง coming of age อย่างไรอย่างนั้น
track recommendation: “Young Adult Friction”
6 : Mazzy Star - She Hangs Brightly (1990)
ถ้าพูดถึง Mazzy Star วงดนตรีจากฝั่งเวสท์โคสท์ของอเมริกาที่เป็นเสียงให้กับชาวอินโทรเวิร์ต คนรักสันโดษ และเหล่าวอลล์ฟลาวเวอร์ หลายคนอาจจะนึกถึงบทเพลงฮิตที่ทลายกำแพงกั้นไปไต่ชาร์ตเพลงเมนตรีมอย่าง “Fade Into You” จากสตูดิโออัลบั้มชุดที่สองของพวกเขา แต่ถ้าย้อนกลับไปฟังเสียงร้องสะกดจิตและการเล่นแทมบูรีนสุด laid-back ของ Hope Sandoval ประกอบกับเสียงกีตาร์โปร่งนุ่มๆ ของ David Roback ในเดบิวต์อัลบั้ม She Hangs Brightly ก็จะทำให้เราได้เห็นว่าการทำอัลบั้มดีๆ ออกมานั้นไม่จำเป็นจะต้องใส่เสียงเมโลดี้ที่ซับซ้อนลงไปให้มันมากเรื่องเลย
track recommendation: “Be My Angel”
7 : Pale Saints - The Comforts of Madness (1990)
The Comforts of Madness อัลบั้มเปิดตัวของวงดนตรีจากเมืองลีดส์ที่ได้โปรดิวเซอร์มือดีถึงสองคนอย่าง John Fryer และ Gil Norton มาร่วมผลิต พวกเขาช่วยให้องค์ประกอบในเสียงกีตาร์เทาๆ ของ Graeme Naysmith เสียงกลองที่ถูกใส่เอฟเฟคดั๊บของ Chris Cooper รวมไปถึงโวคอลเสียงกระซิบและเบสของ Ian Masters เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น หนึ่งในความแตกต่างของอัลบั้มนี้คือ การปล่อยให้เสียงเครื่องดนตรีของเพลงก่อนหน้าลากยาวมาเป็นสะพานเชื่อมในเพลงถัดไป ทำให้ผู้ฟังได้ประสบการณ์การฟังแบบไร้รอยต่อตลอดระยะเวลา 41 นาที
track recommendation: “Sight of You”
8 : Broadcast - Tender Buttons (2005)
หลังจากที่พวกเขาได้ปล่อยอัลบั้ม The Noise Made by People และ Haha Sound มือกีตาร์กับคีย์บอร์ดกลับบอกลาวงไป เหลือเพียง Trish Keenan ร้องนำ และ James Cargill เล่นเบส รวมไปถึงดูแลในส่วนของโปรดักชั่นใน Tender Buttons สตูดิโออัลบั้มชุดสุดท้ายของวงสัญชาติอังกฤษ Broadcast ด้วยความที่ทำเพลงกันต่อแค่สองคนเป็นหลัก จึงทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนแนวทางการทำอัลบั้ม เปลี่ยนเครื่องดนตรี ลดความเป็น psychedelic-pop แต่ถึงอย่างนั้นจิตวิญญาณของวงยังคงถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเสียงโวคอลอันคร่ำครวญของ Keenan ที่ดูจะรับกับดนตรีแบบเรียบง่ายนี้ได้ดีกว่าเดิมเสียอีก
track recommendation: “I Found the F”
9 : Lush - Gala (1990)
“See my life (I've been so tired) / See my self (I've been uptight) / See my life (I've been so tired) / See my sight (I could disappear)” ท่อนเวิร์สเนื้อหาลึกซึ้งได้ถูกแต่งขึ้นโดยกีตาร์/โวคอล Emma Anderson ก่อนจะถูกถ่ายทอดออกมาด้วยเสียง high-pitched บางเบาในอากาศของกีตาร์/เมนโวคอล Miki Berenyi ในแทรก “Sweetness and Light” เป็นสิ่งแรกที่เราได้ยินก่อนจะถูกดึงดูดเข้าไปใน Gala คอมไพเลชันอัลบั้มของ Lush อีกหนึ่งในวงคุณภาพจากลอนดอนในสังกัดค่ายเพลง 4AD ซึ่งอัลบั้มนี้ได้หยิบเอาแทรกจาก EP สามชุดที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงปี 1989-1990 มารวบรวมเข้าไว้ด้วยกันเพื่อตีตลาดเพลงในประเทศอเมริกาและญี่ปุ่น
track recommendation: “Thoughtforms”
10 : Beach House - Teen Dream (2010)
ต่างจากวงดรีมป๊อปวงอื่นๆ ที่ใช้นักร้องโทนเสียงโซปราโน คีย์บอร์ด/โวคอล Victoria Legrand มีโทนเสียงที่ค่อนไปทางคอนทรัลโตแนวอุ่นๆ แต่กลับสามารถรับส่งความรู้สึก ethereal ได้ไม่แพ้โทนเสียงสูง ความพิเศษในเสียงของเธอมีความชัดเจนมากขึ้นในสตูดิโออัลบั้มชุดที่สาม Teen Dream อัลบั้มที่ขัดเกลาตัวตนของวงดูโอจากเมืองบัลติมอร์ และทำให้พวกเขาเป็นที่จับตามองมากขึ้นในวงกว้าง เพราะหลังจากที่วงทำสัญญากับสังกัด Sub Pop คุณภาพการอัดเสียงก็ไม่ใช่แนว lo-fi อีกต่อไป ท่อนฮุคยังถูกยกระดับให้สูงขึ้น แถมเพิ่มเสียงกลองชุดเข้าไปด้วย เรียกได้ว่าเป็นอัลบั้มจุดเปลี่ยนที่ทำให้ Beach House เป็น Beach House ที่เรารู้จักอย่างทุกวันนี้