#HYHTHROWBACK : DEVENDRA BANHART
ครบรอบ 3 ปีที่ Devendra Banhart เจ้าของเพลงโฟล์ก อะคูสติกป๊อปสุดละมุนมาไทย
หลังจากสร้างความสุข ความประทับใจให้แฟนๆชาวไทย ที่งาน #HYBKK Live! Devendra Banhart Solo ที่จัดขึ้น ณ Siam Motors Auditoriums เมื่อวันที่ 16 มิถุยายน 2018 เรียกได้ว่า ศิลปินแนวโฟลค์คนนี้ได้สร้างความประทับใจให้กับแฟนๆ ชาวไทยไปไม่น้อย เพราะนอกจากบัตร 350 ใบที่ Sold out อย่างรวดเร็วกว่าความคิดของเจ้าตัวแล้ว เขายังเปิดเผยอีกว่า เขาชอบที่จะเล่นคอนเสิร์ตในเวนิวเล็กๆ แบบนี้เพราะอยากใกล้ชิดกับคน ด้วยความชอบส่วนตัวที่จะสื่อสารดนตรี ชอบการเล่นดนตรีเงียบๆ มากกว่าการเล่นดนตรีแบบแผดเสียงที่เหมือนการตะโกนใส่คนมากกว่า
Devendra Banhart เคยศึกษาที่สถาบันศิลป์ที่ซานฟรานซิสโก ผลงานของเค้าจึงไม่ได้มีแค่บทเพลง แต่ยังรวมถึงงานศิลปะ ซึ่งผลงานของเค้าก็ได้รับความนิยมในวงกว้าง อย่างที่เคยมีสำนักพิมพ์ที่รวมงานของเขาออกมาเป็นหนังสือที่ชื่อว่า Devendra Banhart : i left my noodle on ramen street drawing and painting
ส่วนผลงานเพลง Devendra Banhart มีอัลบั้มออกมามากมาย ซึ่งเป็นผลงานที่กลั่นกรองผ่านมุมมองประสบการณ์ชีวิตพร้อมๆ กับการเดินทางไปยังที่ต่างๆ เริ่มจาก The Charles C. Leary ในปี 2002 งานชุดแรกที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการใช้เวลาอยู่ในสถานที่ต่างๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเสียงแห่งความอิสระที่ได้จากการเดินทางนี้ก็ไปเข้าหูศิลปินอย่าง Michael Gira หลังจากนั้นเขาจึงชวน Banhart มาอยู่ในสังกัด Young God ของเขา และปล่อยอัลบั้มแรกที่เป็นที่นิยมและได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวางอย่าง Oh Me Oh My (2012) ในปีเดียวกัน
อัลบั้มที่ 2 อย่าง Rejoicing in the Hands (2004) ก็เหมือนได้พาเราไปรู้จักดนตรีก่อนยุคที่จะมีวัฒนธรรม เพราะนอกจากความโฟลค์ที่เราคุ้นหูจากเขาแล้ว ยังมีความบลูส์แบบอเมริกันดั้งเดิม รวมถึงเนื้อหาคำพูดที่มีความอะคูสติกโฟล์คอังกฤษเจือๆ มาด้วย แฟนๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอัลบั้มนี้มีความโฮดเมดแบบหยาบๆ แต่น่าฟังมากกว่าอัลบั้ม Oh Me Oh My... เข้าไปอีก! ตามมาด้วยอัลบั้ม Niño Rojo (2004) ที่มาพร้อมเสียงวิพากย์วิจารณ์ว่างานของเค้าแปลก แต่กลับไม่ได้ทำให้แฟนๆ ของเขาคิดเช่นนั้น เพราะความจริงใจของเนื้อหาที่ดูเหมือนจะเข้าใจยากแต่ก็ง่าย เหมือนการอ่านบันทึกเดินทางของใครซักคน วิธีการเล่าเรื่องผ่านเพลงถือว่าเป็นจุดเด่นในตัวศิลปินคนนี้มากจริงๆ
หลังจากร่วมงานกับ Noah Georgeson และ Thom Monahan อัลบั้ม Cripple Crow (2005) ก็มีความชัดเจนในเรื่องของสีสันที่หลากหลาย และอาจจะเข้าถึงผู้ฟังในวงกว้างได้ง่ายขึน รวมถึงเสียงร้องและคอรัสของนักร้องประสานเสียง เปียโน และฟลุตในเพลง "I Heard Somebody Say" ที่แสดงถึงความงดงาม ในขณะที่ไลน์กีตาร์ไฟฟ้าและกลองมาเพิ่มพลังให้กับ "Long Haired Child" ดูแข็งแกร่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีเพลงภาษาพื้นบ้านของเค้าอย่างภาษาสเปนอีก 5 เพลง จะเห็นได้ว่าศิลปินโฟลค์คนนี้จะชอบใส่วัฒนธรรมหรือสิ่งที่เขาชอบเข้าไปในผลงานแบบไม่มีขีดจำกัดจริงๆ
Home studio แห่งใหม่ของเขาเกิดขึ้นพร้อมๆ กับผลตอบรับจากแฟนเพลงที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ เขาได้ใช้ที่แห่งนี้ในการสร้างสรรค์อัลบั้ม Smokey Rolls Down Thunder (2007) ที่เต็มไปด้วยดนตรีสโมคกี้แห่งความเจ็บปวดในใจ เนื้อหาที่ชวนเสียใจ ผสมผสานมากับความร็อคในบางเพลง
หลังจากเข้าสู่บ้านใหม่กับค่าย Warner Bros ในปี 2009 พร้อมกับพาแฟนๆ ไปรู้จักเค้าเพิ่มเติมในอัลบั้ม What Will We Be ในปีเดียวกันนั้น ก็ดูเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ดูสดใส ร่าเริง ความดิสโก้พื้นเมืองเล็กๆ ที่ผสมผสานความคันทรี่หน่อยๆ กับเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติ ซึ่งถ้าเราสังเกตเวลาทำเพลงเขาจะใส่ reference ของอะไรพวกนี้อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นสัญญะ กลิ่นอาย เสียงแปลกๆ บางอย่าง เหมือนตอนที่เขาได้มาประเทศไทย เขารู้สึกว่าศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นอะไรที่น่ามหัศจรรย์มาก เขาจึงใส่กลิ่นอายของสถานที่ต่างๆ ที่เขาได้เดินทางไป เรียกได้ว่าเป็นอัลบั้มนี้ก็ช่วยผ่อนคลายเราในวันหนักๆได้ดีทีเดียว ฟังแล้วสดชื่นขึ้นมาเลย
ในปี 2013 เขากลับมาอีกครั้งกับอัลบั้ม Mala และ Ape in Pink Marble (2016) ตามลำดับ ตามชื่อของอัลบั้มนี้ Barhart บอกว่าเป็นการเปรียบเทียบสัญลักษณ์ของชายหญิงในสมัยโบราณ เหมือนอย่างหยินหยาง ดาวศุกร์ ดาวอังคาร Ape ที่แปลว่าลิงเป็นผู้ชาย และให้หินอ่อนสีชมพูเป็นตัวแทนความเป็นผู้หญิง ดนตรีในอัลบั้มนี้จะให้ในความรู้สึกบวก อ่อนโยน ผ่อนคลาย แต่สวนทางกับเนื้อหา ที่พูดถึงความเศร้า เหงา เปล่าเปลี่ยวกันอย่างย้อนแย้ง โดย Barhart กล่าวว่า ทุกอย่างมันเป็นอิสระในศิลปะ เขาสามารถแทนตัวเองเป็นผู้หญิงได้ ในเพลง “Linda” เขาตั้งใจจะทำให้ทุกคนคิดเสมอว่า ทุกคนต่างก็มีด้านผู้หญิงและด้านผู้ชายในตัวเอง เพราะคำว่าชายหญิงเป็นเพียงแค่คำจำกัดความ ซึ่งในปัจจุบันมีความหลากหลายมากมายเพราะทุกคนมีพลังงานหรือรสนิยมที่แตกต่างกัน
อัลบั้มล่าสุด Ma ถือเป็นอัลบั้มที่กลั่นกรองชีวิตผ่านช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษของเขา คือความพยายามในการรวบรวมความเข้าใจที่เขาอยากส่งต่อไปยังลูกสมมติของเขา (แน่นอนว่าเขาไม่ได้มีลูกในชีวิตจริง) เป็นบทเรียนที่เขาหวังว่าเขาจะได้เรียนรู้เมื่อตอนเป็นวัยรุ่น เหมือนเป็นพื้นที่ที่จะรวบรวมความยุ่งเหยิงในชีวิต ความปีติยินดีและความโศกเศร้า ความไม่สบายใจและความสนุกสนาน เขาร้องเพลงได้สี่ภาษา คือภาษาอังกฤษ โปรตุเกส ญี่ปุ่น และสเปน สิ่งที่เราจะได้เห็นในอัลบั้มนี้คือความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีตั้งแต่เพลงคันทรี่ ฟังก์ไปจนถึงเพลงบัลลาดเปียโน รวมด้วยเครื่องสาย ความสบายของเสียง synthesizer และแซกโซโฟนที่เข้ามาผสมกันอย่างลงตัว เริ่มจากเพลง “Is This Nice” ที่สื่อถึงทารกตัวน้อยที่ฉลาดเครื่องสาย pizzicato รวมกับเบสที่หนักแน่นทำให้เหมือนการโยกเยกของเด็ก หรือเพลง “Memorial” ที่เขากล่าวยกย่องความรู้สึกซับซ้อนที่ยังคงอยู่หลังจาก Kantori Ongaku ได้จากไป หรือ “Carolina” เพลงที่พูดถึงความรักที่ไม่สมหวังโดยใช้ภาษาโปรตุเกสสื่อสารผ่านถ้อยคำที่เหมือนฝันว่าเขาอยากจะมีโอกาสที่ดีกว่านี้ในการเรียนรู้ภาษาของคนรัก
จะเห็นได้ว่าความใส่จิตวิญญาณลงไปในผลงานของเขา สื่อสารกับผู้คนผ่านบทเพลง ส่งผลให้แฟนๆ ของ Devendra Banhart เหมือนได้เติบโตและเดินทางไปพร้อมๆกับเขาเสมอ