#HYHINTERVIEW - DEATH OF A SALESMAN
Death Of A Salesman (อวสานเซลส์แมน) วงดนตรีจากยุค 2000s ในดวงใจของเหล่าผู้ฟังเพลงนอกกระแสพวกเขากลับมาอีกครั้งหลังจากหายไปหลายปีหลังจากปล่อยอัลบั้มแรก โดยทั้งคู่เพิ่งปล่อย “ขโมย” ซิงเกิลใหม่ในรอบ 20 ปีไปอย่างหมาดๆ แต่ก่อนหน้านั้นเราได้มีโอกาสชวนสองหนุ่ม กระชาย—จตุรวิธ ฉัตตะละดา และ ปริญญ์ อมรศุภศิริ มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องการทำเพลงและอุตสาหกรรมดนตรีทั้งในยุคสมัยของพวกเขาและในยุคปัจจุบัน กับนักดนตรีคนรุ่นใหม่/นักสัมภาษณ์รับเชิญอย่าง เอ็กซ์ จากวง Soft Pine โดยมี แป๋ง จาก Yellow Fang มาร่วมแจมด้วยในวงสนทนา
เอ็กซ์ : สวัสดีครับพี่ๆ แนะนำตัวกันสักหน่อย
กระชาย : สวัสดีครับ ชื่อกระชาย จากวง Death Of A Salesman ... จริงๆ วงนี้มีมากี่ปีแล้วนะ?
เอ็กซ์ : 10 กว่าปีปะพี่?
ปริญญ์ : ประมาณ 18 ปีนะ เราปล่อยอัลบัมแรกตอนปี 2003
แป๋ง : พวกพี่เจอกันก่อนหน้านั้นนานไหม?
ปริญญ์ : เรารู้จักกันช่วงเรียนมหาลัยตอนปี 1999
กระชาย : นานมากเลย แต่เราก็แปลกใจเพราะตอนที่ไปเล่นที่งาน Cat T-shirt ล่าสุด มีเด็กที่ไปฟังคืออายุ 18 คือแบบเด็กมาก อายุน้อยมาก
ปริญญ์ : แล้วรู้อายุเค้าได้ไงวะ?
กระชาย : เพราะว่าเราอยู่ที่บูธขายเสื้อ ก็เลยถาม พอดีมีคนเดินเข้ามาพูดแปลกๆ เช่นแบบ “ดีแล้วที่พี่ไม่เล่นแต่เพลงเก่า” เราก็อ๋อ ก็ได้เรียนรู้ว่าเด็กๆ เค้าก็อยากฟังเพลงใหม่
เอ็กซ์ : ตรงที่ผมยืนดูอยู่ ผมเจอนักดนตรีจากวงต่างๆ เยอะเลยพี่ ทั้งที่โตกว่าและก็รุ่นๆ ผมด้วย
เอ็กซ์ : รู้สึกอย่างไรที่ยังมีคนมาค้นเจอเพลงของ Death of a Salesman อยู่เรื่อยๆ ครับ?
กระชาย : คือเราว่ามันเป็นเรื่องของเทคโนโลยีอินเตอร์เนท ที่มันทำให้คนสามารถค้นหาย้อนไปเจอเพลงของเรา
“รู้สึกอย่างไรกับการที่เพลงของพวกพี่เหมือนได้เปิดโลกทัศน์ของการฟังเพลงให้แก่ผู้ฟังและนักดนตรีหลายๆ คนครับ?” เอ็กซ์ Soft Pine
เอ็กซ์ : รู้สึกอย่างไรกับการที่เพลงของพวกพี่เหมือนได้เปิดโลกทัศน์ของการฟังเพลงให้แก่ผู้ฟังและนักดนตรีหลายๆ คนครับ?
กระชาย : ก็แปลกใจ เพราะตอนเราทำ เราก็ไม่ได้คิดว่า มันจะไปเปิดโลกให้ใครได้ เราแค่ทำเพลงในแบบที่เราชอบ เราเล่นจากเสียงที่เราอยากได้ยินในหัว แล้วก็ไปประกอบกับเพลงที่เราได้ไปฟังมา ซึ่งพอเราหัดแต่งไปเรื่อยๆ เราพบว่าจริงๆ แก่นของตัวเรา เมโลดี้แบบที่เราชอบมันมักจะไปทาง blues แล้วก็เนื้อเพลงจะเกี่ยวกับอะไรที่ personal มากๆ ไม่ใช่อะไรที่ไกลตัว เราชอบอะไรแบบนี้
แป๋ง : เออจริงๆ มีความ blues นะ มีความ folk ด้วย ที่เราคุยกันมาเหมือนพี่กระชายจะฟัง folk
เยอะ ทั้งเก่าและใหม่
กระชาย : ใช่ๆ จริงๆ แล้ว Yellow Fang ก็มีความ blues นะ เราฟังเพลงเลี้ยงแล้วเราก็รู้สึกได้ถึง ความเป็น blues ในแบบของวงผู้หญิง
เอ็กซ์ : เหมือนพี่แป๋งจะชอบใส่โน้ตกัดๆ ที่เอามาจากทาง blues นิดนึง
แป๋ง : เออใช่ นิดหน่อย ไม่รู้ตัว
ปริญญ์ : ในการทำงานของเรามันเหมือนกับว่าเราสองคนเห็นคุณค่าในสิ่งเดียวกัน โดยสารตั้งต้นจะมาเป็นจากกระชาย เราเป็นเหมือนเพื่อนที่มองเห็น value ในสิ่งที่กระชายทำ แบบว่า เฮ้ย มึงทำอะไรวะเนี่ย ทำไมมันมี miracle จัง เราก็จะคอยตาม support มันมาตลอด เพราะเห็น value ของดนตรีร่วมกัน ส่วนในเรื่องที่ว่าอัลบัมแรกของ Death Of A Salesman มันอาจจะเคยเปิดโลกทัศน์ให้กับคนฟัง เรามองในมุมที่แฟร์ๆ เราคิดว่าคำตอบมันคือ ด้วยเพราะ ในยุคนั้น โอกาสในการเข้าถึงแนวเพลงที่แตกต่างของเพลงไทยในยุคนั้นมันยังมีไม่มากนัก สมัยนั้น YouTube ยังไม่มี การจะหาเพลงแปลกๆ ใหม่ๆ ฟังคือต้องไปค้นหาตามร้าน CD เฉพาะทางในไทยหรือสั่งซื้อจากต่างประเทศ ทีนี้พอมีกลุ่มคนที่เข้าถึงอะไรตรงนั้นก่อนคนอื่น แล้วนำอิทธิพลต่างๆ จากเพลงแบบนั้นแบบนี้ เอามาผสมผสานในการสร้างงาน มันก็เลยออกมาฟังดูแล้วแตกต่าง ซึ่งถ้ากลับกัน ถ้า Death Of A Salesman มาเริ่มทำวงในยุคนี้ มันก็อาจจะไม่มีผลลัพธ์อะไรแบบที่ว่านั้นได้หรอก (ทุกคนหัวเราะ) คือพูดอย่างตรงไปตรงมาน่ะ มันเหมือนกับว่า แค่วันนั้น ถ้าแค่มีคนไปฟัง Sigur Rós มา มีคนไปฟัง Elliot Smith มา หรือไปฟัง Cornelius มา แล้วนำสิ่งที่ได้ฟังมา reproduce ผ่านมุมมองของตัวเองอีกที มันก็กลายของแปลกขึ้นมาได้แล้ว ซึ่งเราว่ายุค 2000 มันกำลังเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากยุค alternative 90s พอดี กำลังเข้าสู่ยุค 2000 ที่คนก็ยังไม่รู้ว่าต่อจากจุดนั้น แนวดนตรีมันกำลังจะไปทางไหนต่อ คิดว่าเหตุผลมันก็มีแค่นี้แหละ และที่จริงวง Death Of A Salesman ถ้ามองกันจริงๆ ก็จะพบว่า ไม่รู้ว่า มันคือวงแนวอะไรกันแน่ด้วยซ้ำ เพราะทุกเพลงมันไม่เหมือนกันเลย คือถ้ามันเป็นแบบ “ไปในดาว” ทุกเพลง มันก็คงเป็นวง electronic หรือถ้าเป็นแบบ ”มีฉันมีเธอ” ทุกเพลง มันก็คงกลายเป็นวง alternative rock แต่ปรากฎว่ามันดันมีทุกแนว ปะปนกันมั่วไปหมด มันเลยกลายเป็นวงอะไรก็ไม่รู้ที่ทำเพลงอะไรก็ไม่รู้ ต่อๆ กัน 9 เพลง เป็นอัลบั้มแรกออกมา และถ้าฟังให้ดีๆ จะพบว่าในแต่ละเพลงจะไม่ค่อยจบดีด้วย มันเป็นเหมือนไอเดียที่คล้ายกับดอกไม้ไฟที่พุ่งขึ้นไปบนฟ้าแล้วก็จบตรงนั้น เรามองว่า Death Of A Salesman มันเป็นเรื่องของเด็กสองคนใน moment นึงของวันเวลาเหล่านั้น เท่านั้นเอง ซึ่งสิ่งที่เรารู้สึกมาตลอด ก็คือ Death Of A Salesman คือวงมือสมัครเล่นตลอดมาและตลอดไป เพราะมันคือแค่เด็กที่ทำอะไรขึ้นมาตู้มเดียว แต่ไม่ได้มีการสานต่อหรือต่อยอดสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นวงดนตรีที่จริงจังในทางธุรกิจได้เลย คือมันจบแค่ตรงนั้นเลย
“ในการทำงานของเรามันเหมือนกับว่าเราสองคนเห็นคุณค่าในสิ่งเดียวกัน โดยสารตั้งต้นจะมาเป็นจากกระชาย เราเป็นเหมือนเพื่อนที่มองเห็น value ในสิ่งที่กระชายทำ แบบว่า เฮ้ย มึงทำอะไรวะเนี่ย ทำไมมันมี miracle จัง เราก็จะคอยตาม support มันมาตลอด เพราะเห็น value ของดนตรีร่วมกัน” ปริญญ์
เอ็กซ์ : เพราะอะไรครับพี่?
ปริญญ์ : คืออย่างที่บอก พวกเราเป็นแค่เด็กที่ทำอะไรก็ไม่รู้ พอเสร็จอัลบัมแรกก็หายไปเลย คือถ้าเป็นคนอื่นเค้าก็คงจะสามารถทำเพลง “เหม่อ” เวอร์ชั่นสองกันออกมาได้ แล้วก็ออกเป็นอัลบั้มที่สอง แล้วสะสมฐานแฟนเพลง ทำเป็นอาชีพไปได้เลย แต่มันไม่เคยเป็นแบบนั้นกับพวกเรา ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันคืออะไร แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป พอเราโตขึ้น เราก็ได้เรียนรู้ว่าธรรมชาติว่า เราสองคนมันคงไม่ได้เป็นแบบนั้น เรามองกลับไป เราจึงเห็นว่า มันเป็นแค่เรื่องของเด็กในวันนั้นที่ทำอะไรขึ้นมาแล้วก็จบ แค่นั้นเอง
เอ็กซ์ : แล้วหลังจากนั้นพี่รู้สึกโหยหาในการทำเพลงบ้างไหม?
ปริญญ์ : หลังจากนั้นเรากับกระชายก็มีทำเพลงด้วยกันอีกอยู่บ้าง เช่น คัฟเวอร์เพลง “สุขใจ” ของวง Crub ในอัลบั้ม smallroom 004 ซึ่งเป็นอัลบั้ม tribute วง Crub ซึ่งในชุดนั้นเรากับกระชายก็ช่วยผลิตหลายเพลงอยู่เหมือนกัน ในจุดนั้นถ้าเปรียบก็คือถือว่าเป็นยุค post ของ Death Of A Salesman อัลบัมแรก ซึ่งถ้าตอนนั้นมีการทำ Death Of A Salesman อัลบั้มสองออกมา color ของเพลงก็น่าจะออกมาเป็นอะไรประมาณนั้นแต่ปรากฎว่าก็ไม่ได้ทำ
กระชาย : คือจริงๆ เวลาเราทำเพลง เราชอบทำในสิ่งที่รู้สึกถึง nostalgia ถึงอะไรบางอย่างที่เราอยากจะรู้สึกถึง เช่น เราทำเพลง “ไปในดาว” มันก็คือ เป็นความรู้สึกของเราในวัย 8 ขวบที่ได้ฟังเพลงของ Michael Jackson เราแค่อยากจะรู้สึกถึงตรงนั้น สำหรับเรามันเหมือนการถ่ายหนัง เราอยากจะเก็บความรู้สึกและบรรยากาศของช่วงเวลา ตอนเราทำเพลง เราคิดแบบนั้นเป็นหลัก
เอ็กซ์ : นิยามง่ายๆ ก็คือการ record เรื่องราวและความรู้สึก
กระชาย : ใช่ๆ มันเป็นแบบนั้นจริงๆ
“คือจริงๆ เวลาเราทำเพลง เราชอบทำในสิ่งที่รู้สึกถึง nostalgia ถึงอะไรบางอย่างที่เราอยากจะรู้สึกถึง เช่น เราทำเพลง “ไปในดาว” มันก็คือ เป็นความรู้สึกของเราในวัย 8 ขวบที่ได้ฟังเพลงของ Michael Jackson เราแค่อยากจะรู้สึกถึงตรงนั้น สำหรับเรามันเหมือนการถ่ายหนัง เราอยากจะเก็บความรู้สึกและบรรยากาศของช่วงเวลา ตอนเราทำเพลง เราคิดแบบนั้นเป็นหลัก” กระชาย
เอ็กซ์ : ในมุมมองของพี่ๆ คิดว่าเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องดนตรี หรืออุปกรณ์สตูดิโอที่ใช้ในการทำเพลงและการบันทึกเสียงมีความสำคัญมากหรือน้อยอย่างไรบ้าง
กระชาย : บอกได้เลยว่าเรื่องนี้มันเป็นหายนะสำหรับเราอยู่ช่วงนึงเลย เราเคยผ่านการคิดหา logic ของสิ่งอะไรพวกนี้ ว่ามันจะต้องใช้เครื่องนู้นเครื่องนี้เพื่อให้ได้เสียงนู้นเสียงนี้ ซึ่งสุดท้ายเราว่ามันทำให้เราติดอยู่ใน framework อะไรบางอย่างซึ่งเราว่ามันทำลายความรู้สึกนะ เราว่าเครื่องมือต่างๆ มันไม่ได้ matter มาก วันนี้เราหมดความรู้สึกเหล่านั้นไปแล้ว ตอนนี้เครื่องมือต่างๆ ที่เราเคยซื้อ เราก็ไม่ได้ไป rely on มันขนาดนั้น สิ่งที่เราทำตอนนี้คือเราขับรถในตอนเช้าแล้วก็เราฮัมแต่งเพลงออกมา โดยที่ในหัวเรามีบรรยากาศและความรู้สึกที่อยากให้มันเกิดขึ้นว่ามันเป็นอย่างไร เราว่าหัวใจมันคือแค่นี้เลย แต่ตอนที่เราเคยบ้าเรื่องอุปกรณ์ มันก็เคยทำให้เราได้ไปรู้เรื่อง processing ต่างๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วตอนนั้นเราเองก็ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ ก็เลยรู้สึกว่ามันเครียดมากเลยน่ะกับการต้องไปฝักใฝ่สนใจเรื่องพวกนั้น ซึ่งแต่พอมันผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปแล้วเราก็กลับมาโฟกัสที่เรื่องความรู้สึกอย่างเดียว
ปริญญ์ : เรื่องอุปกรณ์ เราอยากบอกว่าเราก็เคยเป็นคนที่หลงใหลในเรื่องตรงนั้นมากๆ เราเอาเงินไปซื้อ gear ต่างๆ เยอะมาก เช่น พวก hardware ที่เป็น analog พวก compressor, equalizer, studio monitor สารพัดต่างๆ ที่มัน hi-end และโคตรแพงเลย ซึ่งสุดท้ายแล้วเราค้นพบว่า ไม่รู้นะ เราอาจจะห่วยเองก็ได้ แต่เราค้นพบว่ายิ่งเรามีมันมากเท่าไรมันกลับยิ่งแย่ สุดท้ายกลายเป็นว่ามันทำให้เราทำอะไรไม่ได้เลย คือสรุปแล้วแม่งเป็นอะไรที่เฮงซวยมากๆ (ทุกคนหัวเราะ)
กระชาย : มันเป็น pain มากเลยนะ ที่ช่วงนั้นต้องมานั่งเครียดกับเรื่องพวกนี้ แต่คือพอเวลาผ่านไป เราก็เลือกที่จะกลับโฟกัสที่ songwriting และการเล่าเรื่อง
ปริญญ์ : สรุปเลยนะ คือสุดท้าย เราว่าคนๆ นึง จริงๆควรมีอุปกรณ์แค่ไม่กี่อย่างก็พอน่ะ ที่เหลือก็ใช้ software เอานี่แหละ ดีสุดแล้วจริงๆ
เอ็กซ์ : ส่วนตัว ผมรู้สึกว่าอุปกรณ์ที่มีน้อยและอยู่ในข้อจำกัดสามารถสร้างคาแรคเตอร์ให้เราได้ด้วย
กระชาย : ใช่ อัลบัมแรกของ DOSM ก็เกิดจากข้อจำกัด ตอนนั้นเราใช้แค่เครื่องอัด 8 tracks
ปริญญ์ : เราเชื่อว่าอย่าพยายามไปโฟกัสเรื่องอุปกรณ์มากเกินไป ยกตัวอย่างวง Safeplanet เราชื่นชม Safeplanet มากในแง่ที่ว่า ถ้าเป็นผู้ประกอบการ ถือว่าคือเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมากๆ เลย อย่างล่าสุดเราไปหาเอเลี่ยนที่บ้าน เราพบว่าเอเลี่ยนเค้าเจอวิธีการทำงานของเขาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากๆ คือมันเหมือนเขารู้จุด transition ระหว่างการทำ idea ออกมาเป็น demo และการเคลื่อนไปสู่กระบวนการของการจบงาน เขารู้ว่าช่วงทำ demo เขาควรทำแค่ประมาณไหน และพอไปห้องอัดก็ไป shape สิ่งเหล่านั้นดีๆ อีกทีโดยมีคนที่ mix master เก่งๆ คอยช่วยสร้างมัน ซึ่งสุดท้ายเขาก็ได้งานที่ดีออกมาเสมอ อันนี้คือตัวอย่างของ artist ที่รู้ว่าเส้นแบ่งระหว่างก่อนเสร็จกับเสร็จแล้วอยู่ตรงไหน โดยที่ไม่พาให้ระหว่างทางทุกอย่างมัน block หรือเหนื่อยเกินไป อย่างในการทำเพลงใหม่ตอนนี้ เราเคยถามกระชายว่าทำไมต้องให้กู mix ด้วยวะ ทำไมเราไม่หาคนเก่งๆ มา mix ให้ เพื่อที่ว่าการทำงานมันจะได้ง่ายหน่อย แต่คือกระชายก็พยายามจะให้เราทำเอง เรามองในมุมที่ว่าเราอยากให้เพลงมันเสร็จเร็ว จะได้ปล่อย มันจะได้ไม่ช้า
แป๋ง : เป็นไปได้ที่พี่ปริญญ์จะรู้สึกว่าฟังเพลงนี้มาเยอะแล้วเลยอยากจะได้อีกคนมามอง มาจัดอะไรให้หรือเปล่า?
ปริญญ์ : เราแค่อยากให้วงมันไปข้างหน้าได้ดี อยากให้วงมันเจริญงอกงาม ไม่ต้องมาช้าที่ตัวเราเท่านั้นเอง
กระชาย : เราอยากให้ปริญญ์ทำเพราะปริญญ์น่าจะเข้าใจเพลงที่เราทำกันมาดีที่สุด
ปริญญ์ : และมันก็คงคิดด้วยแหละว่าเป็นคนที่เข้าใจมันที่สุด เลยน่าจะดีกว่าไปใช้คนอื่น mix ให้ ซึ่งแม่งไม่จริงเลย อะๆ เปลี่ยนคำถามดีกว่า ข้ามเหอะ (หัวเราะ)
แป๋ง : แต่มันเป็น combination ที่ถูกต้องมากเลยนะ คนนึงเป็น technical & logic ส่วนอีกคนเป็น spiritual อะไรแบบนี้ ซึ่งพอเราได้มามาเจอสองคนนี้ เราก็เห็นภาพชัดเจนว่าไอ้ 2 อย่างนี้มันมารวมกันได้อย่างไร (หัวเราะ) เหมือนจะไม่รอดแต่ก็รอด
เอ็กซ์ : อันนี้คำถามจากทางบ้านนะครับ ทุกวันนี้เวลาเล่นหรือฟังเพลงที่ตัวเองเคยแต่งไว้ยังรู้สึกเหมือนเดิมไหม
กระชาย : คือยังรู้สึกว่ามันเป็นแบบนั้นเลย เวลาเราเล่นเพลงพวกนั้น มันก็เหมือนเรา snapshot เพลงนั้นไว้ พอกลับมาเล่นมันอีกครั้งเราก็รู้เลยว่าต้องอารมณ์ประมาณไหน
ปริญญ์ : ไม่ๆ คำถามเค้าหมายถึงว่า เช่น ในตอนที่แต่งเพลง “รักในสิ่ง” ที่ตอนแต่งมึงรู้สึกว่ากำลังจะต้องลาจาก จากสิ่งที่ทำอยู่ แล้วไปเรียนต่อ แบบเป็นความรู้สึกถึงความผูกพันต่อสิ่งต่างๆ การเผชิญความเปลี่ยนแปลงและการก้าวไปข้างหน้า ว่าตอนนี้ถ้ากลับไปฟังยังรู้สึกอินได้เหมือนตอนแต่งรึเปล่า
กระชาย : อ๋อ เราไม่ได้รู้สึกแบบ “มีฉันมีเธอ” ในมุมแบบแฟนคนแรกแล้วอกหักอะไรแบบนั้นแล้วล่ะ
แป๋ง : (หัวเราะ)
ปริญญ์ : นั่นแหละ คำถามเลยถามว่า แล้วเวลาฟังเพลงเก่าพวกนั้นในทุกวันนี้รู้สึกแบบไหน?
กระชาย : จริงๆ กล้าบอกเลยว่าความรู้สึกที่เกี่ยวกับเพลงในมุมแบบแฟนคนแรกใน “ มีฉันมีเธอ”หรือแบบ “เรือชูชีพ” มันจบไปตั้งแต่ตอนที่เราแต่งเพลงเหล่านั้นเสร็จเมื่อปี 1999 แล้วแหละ มันจบไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว พอในเวลาถัดมาเราจำมันไว้แค่ในเรื่องของอารมณ์เพลงและเมโลดี้
เอ็กซ์ : แล้วพอวัยเปลี่ยน พี่มองกลับไปที่เนื้อหาหรือบางประโยคที่ตัวเองแต่งแล้วรู้สึกไม่เห็นด้วยกับมันบ้างไหม?
กระชาย : ไม่มีนะ เพราะในทุกเวลาเราเชื่อในสิ่งที่เราพูด และทุกสิ่งที่เราเขียนก็ออกมาจากสิ่งที่เราเชื่อจริงๆ
เอ็กซ์ : แล้วการที่พี่จะปล่อยเพลงใหม่พวกพี่ต้องปรับตัวอะไรไหม?
กระชาย : เราคิดว่าเราไม่ได้ซีเรียสอะไรเลย เราแค่อยากจะมีงานที่ดี และเวลาเราทำเพลงเราจะนึกถึงภาพตามไปด้วย เราอยากทำ visual เพื่อพูดถึงเรื่องราวเหล่านั้นออกมาให้ชัดมากที่สุดเท่านั้นเอง
ปริญญ์ : เราคิดว่าการเป็นวงเก่าที่จะกลับมาทำเพลง มันจะมีสิ่งๆ นึงที่ทุกวงจะต้องเผชิญเสมอ สิ่งนั้นมันมีอยู่จริงซึ่งเราอธิบายไม่ถูกว่ามันคืออะไร แต่ทุกคนคงเข้าใจแหละ มันคือกำแพงอะไรสักอย่างสำหรับคนฟังด้วย นี่คือพูดแบบกลางๆ เลยนะ
กระชาย : สำหรับเราเรื่องความเป็นวงเก่าหรือไม่เก่า ไม่มีอยู่ในหัวแล้วนะ สำหรับเราคือเราไม่มีอัลบั้มแรกอยู่ในหัวเราแล้วนะ เราแค่ทำมันออกมาเลย ดังนั้นเราไม่กังวลถึงคนอื่นเลยว่าจะฟังหรือไม่ฟัง อะไรแบบนั้น คือในหัวเราไม่มีเรื่องพวกนี้เลย
แป๋ง : การที่เรามากังวลในเรื่องพวกนี้มันก็เป็นอุปสรรคในหลายๆ อย่างนะ การไม่กังวลมันดีแล้วแหละ จะได้ทำแบบที่อยากทำ
เอ็กซ์ : ก็คือไม่มีความกดดันในการกลับมาทำเพลงใหม่ๆ เลย
กระชาย : ไม่มีเลย เอาเป็นว่า ตัวเราในวันนี้ก็เปลี่ยนไปแล้วน่ะ เราไม่ได้นึกถึงอดีตเลย
แป๋ง : จริงๆ DOSM เคยลองนับรึเปล่าว่าเคยเล่นสดมาแล้วจริงๆกี่ครั้ง?
พี่กระชาย : น้อยมากๆ
ปริญญ์ : ในชีวิตน่าจะไม่ถึง 15 - 20 ครั้ง
แป๋ง : แต่คิดว่ามีหลายคนที่อยากมาดูเล่นสด เพราะอย่างแป๋งตอนเด็กๆ ได้ไปดูพี่งานแรกที่งาน “เล็ก ชิ้น สด” เสียงต่างๆ มันไม่เหมือนที่ฟังในแผ่นเลยนะ
กระชาย : โห แป๋งเคยมาดูเราที่งานนั้นเลยหรอ?
“ส่วนใหญ่คนที่ชอบอัลบัมนั้นจะชอบทั้งอัลบัม ไม่ได้ชอบแค่เพลงใดเพลงนึง ณ จุดนึงถ้าเรามองย้อนกลับไป คิดว่าสมัยนั้นมีวงไหนที่เราฟังทั้งอัลบัม จริงๆ ก็มีไม่เยอะนะ แล้ววงนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เราสามารถฟังตั้งแต่ต้นจนจบได้ โดยที่ไม่กด skip เพลง ซึ่งหายากมากนะ ใน all time เลย” แป๋ง Yellow Fang
แป๋ง : แป๋งคิดว่าที่คนมาดูคอนเสิร์ตนั้นในวันนั้น เพราะว่าส่วนใหญ่คนที่ชอบอัลบัมนั้นจะชอบทั้งอัลบัม ไม่ได้ชอบแค่เพลงใดเพลงนึง ณ จุดนึงถ้าเรามองย้อนกลับไป คิดว่าสมัยนั้นมีวงไหนที่เราฟังทั้งอัลบัม จริงๆ ก็มีไม่เยอะนะ แล้ววงนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เราสามารถฟังตั้งแต่ต้นจนจบได้ โดยที่ไม่กด skip เพลง ซึ่งหายากมากนะ ใน all time เลย
แป๋ง : อยากฝากอะไรทิ้งท้ายไหมคะ ฝากหน่อย
กระชาย : เรามีความคิดว่าเราอยากจะเล่นสดให้ดี ทุกวันนี้นอกจากการออกเพลง การเล่นสดมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้จักวงได้ดีที่สุด เราก็เลยคิดว่าถ้าเป็นไปได้ เวลาเราไปเล่นที่ไหนเราก็อยากจะเล่นให้มันดีที่สุด และก็ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ยังไงก็ฝากติดตามด้วยครับ
ปริญญ์ : แต่ที่พูดมาทั้งหมดเนี่ย การเล่นสดคือสิ่งที่อ่อนที่สุดของวงนี้เลยแหละ ก็คงต้องพยายามกันให้มากๆครับ