Other music - more than a record Store!
“For people that appreciate music.” ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายฤดูร้อนในปี 2019 มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้สูญเสียศูนย์กลางวัฒนธรรมทางดนตรีอันเป็นที่รักและทรงอิทธิพลอย่างมากไป เนื่องจากร้านแผ่นเสียง ร้านหนังสือ หรือร้านขายวิดีโอได้ทยอยปิดตัวลง ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสที่กำลังย่างกรายเข้ามา ชุมชนเหล่านี้จึงจำเป็นต้องย้ายไปทำการตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์แทน เพราะคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตในยุค digital age มักเพลิดเพลินไปกับการสตรีมเพลงที่สะดวกสบาย มากกว่าจะซื้อสื่อทางกายภาพหรือ physical item ผ่านทางหน้าร้านค้าแบบในอดีต
โดยบทความนี้เราจะพูดถึงสารคดีความยาวร่วมหนึ่งชั่วโมงครึ่งที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมการซื้อแผ่นเสียงผ่านสายตาผู้กำกับทั้งสองอย่าง Puloma Basu และ Rob Hatch-Miller ทั้งคู่เคยเป็นอดีตพนักงานและลูกค้าเก่าแก่ผู้แวะเวียนมาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับร้านแผ่นเสียง Other Music ที่กำลังปิดตัวลงในปี 2016 เพื่อเป็นการบอกลาและให้เกียรติร้านสุดโปรดของพวกเขา สำหรับผู้ที่หลงใหลออดิโอไฟล์และเสียงเพลงในนิวยอร์กซิตี้ ขณะที่อุตสาหกรรมดนตรียังคงดำเนินต่อไป พวกเขาต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของชุมชนแห่งเสียงเพลงที่มีความหมายต่อผู้คนในอดีตจนถึงปัจจุบันอย่างไร นี่คือคำถามที่พวกเราจะมาร่วมหาคำตอบกัน
ย้อนกลับไปในช่วงก่อนที่พวกเราจะมี iPhone หรือ music streaming platforms ต่างๆ ร้าน Other Music ได้ถูกก่อตั้งโดยเพื่อนซี้ Chris Vanderloo และ Josh Madell (co-owner) ในปี 1995 พวกเขาทั้งสองเคยเป็นพนักงานร้าน Kim’s Video Underground ร้านขายวิดีโอภาพยนตร์นอกกระเเส ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เกรด B, หนังทดลอง ไปจนถึงหนังโป๊สุด rare (เปรียบได้กับร้านพี่เเว่นที่บ้านเรานี่เเหละ คอหนังเเผ่นผีน่าจะคุ้นเคย)
หลังจากคลุกคลีทำงานร่วมกันอยู่หลังเคาท์เตอร์ คริสกับจอชก็ผุดไอเดียร้านแผ่นเสียงเพลงนอกกระเเสขึ้นมา พวกเขาจึงร่วมหุ้นกับ Jeff Gibson (co-founder) เปิดร้าน Other Music โดยปักหลักอยู่บนถนน East 4 ระหว่างถนน Broadway และ Lafayette ย่าน East Village ใจกลางเกาะ Manhattan (เเหล่ง Hipster ใน ยุคเเรกก่อนที่ย้ายไป Williamsburg ฝั่ง Brooklyn)
ทั้งสามมุ่งมั่นสร้างอุดมการณ์ให้ร้าน Other Music เป็นมากกว่าร้านขายเเผ่นเสียงทั่วไป พวกเขาจึงสร้าง community สำหรับดนตรีนอกกระแส และเปิดพื้นที่รองรับเหล่า music nerds ผู้กระหายการเสพย์ดนตรีใหม่ๆ โดย selections ของทางร้านจะมุ่งเน้นไปที่ดนตรีนอกกระเเส งานสายทดลองทั้งใหม่เเละเก่า ไม่ใช่เเค่นั้น Other Music ยังให้ความสำคัญกับความทุ่มเทของพนักงาน (นึกถึงเพื่อนที่อินเพลงจัดๆ ที่พร้อมจะเเนะนำเพลงใหม่ให้เราฟัง) การบริการลูกค้าอย่างใกล้ชิด การกระจายฐานอาชีพให้คนในชุมชนมีรายได้ การจ้างพนักงานผู้หญิง (ถ้าให้นึกถึงผู้เชี่ยวชาญด้านเพลง เราอาจจะนึกถึงเพศชายก่อนสินะ?..) หรือคนผิวสีที่พยายามพิสูจน์ว่าพวกเขาไม่ใช่อาชญากรแบบที่ใครกล่าวหา
นอกจากนี้ Other Music ยังเคยเป็นพื้นที่สำคัญให้กับศิลปินอินดี้หน้าใหม่ๆ ในช่วงยุค 00s ได้หมุนเวียนกันมาเเสดงสดภายในร้าน มีหลายชื่อที่สายเราๆน่าจะคุ้นเคยกัน เช่น The Rapture, Mogwai, Yo La Tengo, Lee Ranaldo (Sonic Youth), The National, No Age, TV On The Radio เเละอีกมากมาย
Other Music เปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่ได้เข้ามาพูดคุย และวางขายผลงานตัวเองอย่างไม่จำกัดเเเนวเพลงทั้ง indie, ambient, free jazz, experimental, psychedelia, kruatrock, noise ฯลฯ
โดยวง post punk อินดี้เเถวหน้าจาก New York อย่าง Interpol ก็ยังเคยวางขายเเผ่นซิงเกิ้ลที่นี่เป็นที่เเรกๆ ถึงเเม้ว่าร้าน megastore อย่าง Tower Records จะอยู่เยื้องไปไม่ไกลจาก Other Music เเต่ selections ที่อยู่เหนือคำว่าทั่วไปของร้านนี้เเหละที่ดึงดูดให้เหล่านักฟังเพลงต้องเเวะเวียนมาหาอะไรใหม่ๆ กลับไปฟังอยู่เสมอ
น่าเสียดายที่พวกเขาต้องปิดตัวลงในเดือนมิถุนายนปี 2016 ที่ผ่านมา แต่แก่นสารที่ Other Music มอบให้พวกเราคือความท้าทาย แรงบันดาลใจ และความสำเร็จของร้านแผ่นเสียงที่ต้อนรับแขกมากหน้าหลายตาด้วยความอบอุ่นอย่างหาเปรียบไม่ได้ บทสนาอันใกล้ชิดที่โอบล้อมผู้คนเข้าหากันท่ามกลางชั้นวางสินค้าจำนวนนับไม่ถ้วนที่รักษาจิตวิญญาณของดนตรีและแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของพวกเขาระหว่างลูกค้าและศิลปินในสารคดีชุดนี้ที่ไล่ไปตั้งแต่ Galaxie 500, Depache Mode, Interpol, Le Tigre, Mogwai, Cornelius, Yeah Yeah Yeahs, The National, Animal Collective, Vampire Weekend ฯลฯ
สามารถรับชม Other Music Documentary ผ่านทาง Prime Video, Itunes, Google Play และ Vimeo